วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การรักษาโรคติดเชื้อราแคนดิดาของช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกด้วย Itraconazole

Itraconazole (Sporal หรือ Sporanox บ. Janssen Pharmaceuticals) เป็นยาต้านเชื้อรากลุ่ม triazole ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา (fungistatic activity) สกุลแคนดิดา (Candida spp.) โดยเฉพาะชนิด albicans

ปริมาณ Itraconazole ในเนื้อเยื่อต่างๆ จะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยาจับกับโปรตีนได้ดี โดยเฉพาะเคอราติน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผม เล็บ และผิวหนัง พบว่าการให้ยาเพียงครั้งเดียวสามารถคงระดับยาที่ให้ผลการรักษาในเยื่อบุช่องคลอดได้ถึง 4 วัน แต่พบว่าผู้ป่วยบางรายกลับมาเป็นซ้ำหลังรักษาด้วยยาเนื่องจากเชื้อราลุกลามถึงชั้นใต้เยื่อบุช่องคลอด

โรคติดเชื้อราแคนดิดาของช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอก (vulvovaginal candidiasis) ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเชื้อราแคนดิดาชนิด albicans แต่ในปัจจุบันพบว่าเกิดจากชนิดอื่นมากขึ้น (Candida tropicalis และ Candida glabrata) โดยแต่เดิมคิดเป็นร้อยละ 9.9 ในปี 1988 แต่ในปี 1995 พบเพิ่มเป็นร้อยละ 17.2

การศึกษาในหลอดทดลอง (in vitro) พบว่า Itraconazole ออกฤทธิ์ต้านเชื้อราแคนดิดาที่ไม่ใช่ชนิด albicans ได้ดีกว่ายาต้านเชื้อรากลุ่ม azole อื่น เช่น Fluconazole ดังนั้นการใช้ Itraconazole ในการรักษาโรคติดเชื้อราแคนดิดาของช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกจึงน่าจะได้ผลดียาต้านเชื้อรากลุ่ม azole อื่นๆ

##### การทดสอบทางคลินิก #####

พบว่าการใช้ “200 มก. (2 แคปซูล) วันละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน” หรือ “200 มก. (2 แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง เพียงวันเดียว” สามารถให้อัตราการรักษาหาย (cure rate) สูงเช่นเดียวกับการรักษามาตรฐานด้วย Clotrimazole และ Fluconazole

ประมาณร้อยละ 5 ของผู้หญิง จะมีการกลับเป็นซ้ำอีกอย่างน้อย 4 ครั้งใน 1 ปี หรือ อย่างน้อย 3 ครั้งโดยไม่ได้เกิดหลังการใช้ยาปฏิชีวนะ อาจจำเป็นต้องใช้ Itraconazole ในขนาดป้องกัน (prophylactic dose) เช่น
- กิน 200 มก. (2 แคปซูล) ครั้งเดียว ในวันแรกของรอบประจำเดือน ติดต่อกัน 6 รอบ
หรือ
- กิน 200 มก. (2 แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (ห่างกัน 12 ชั่วโมง) ในวันที่ 4 หรือที่ 5 ของรอบประจำเดือน ติดต่อกัน 6 รอบ
หรือ
- กิน 200 มก. (2 แคปซูล) วันละครั้ง ติดต่อกัน 3 วันในวันแรกของรอบประจำเดือน จากนั้นในวันแรกของรอบประจำเดือนต่อไปให้กิน 200 มก. (2 แคปซูล) ครั้งเดียว ติดต่อกัน 5 รอบ

ข้อดีของการรักษาโรคติดเชื้อราแคนดิดาของช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกด้วย Itraconazole คือ ใช้ระยะการรักษาสั้นกว่าการใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่

คัดจาก Gupta A.K., Bluhm R. Itraconzole (Sporanox) for vulvovaginal candidiasis. Skin Therapy Letter. Vol 7 (2002) [ http://www.skintherapyletter.com/download/stl_7_s1.pdf ]



$$$$$$$$$$ ราคาอ้างอิงเฉลี่ยของ Itraconazole 100 mg capsules $$$$$$$$$$
Sporal (บ. Janssen-Cilag) แคปซูลละ 35.07 บาท (3,507.40 บาท/100 แคปซูล)
Sporlab (บ. Biolab) แคปซูลละ 13.06 บาท (1,306.25 บาท/100 แคปซูล)
Spazol (บ. Siam Bhaesaj) แคปซูลละ 10.62 บาท (1,062.26 บาท/100 แคปซูล)
Itracon (บ. Unison) แคปซูลละ 13.25 บาท (1,324.70 บาท/100 แคปซูล)
Spornar (บ. Charoen Bhaesaj) แคปซูลละ 9.45 บาท (945.00 บาท/100 แคปซูล)
Itra (บ. Macrophar) แคปซูลละ 8.92 บาท (891.82 บาท/100 แคปซูล)
Norspor (บ. Ponds Chemical) แคปซูลละ 9.75 บาท (975.00 บาท/100 แคปซูล)



ref;  ภก.ณัฐวัฒน์ ตีระวัฒนพงษ์


ให้พิจารณาหรือระมัดระวังเรื่องการกินยาด้วยครับ โดยคุณสมบัติของ Itraconazole capsule ต้องอาศัยกรดในปริมาณที่มากพอในการละลายยาและช่วยให้ยาดูดซึมได้ดีขึ้นครับ โดยทั่วไปแนะนำให้กินยาหลังอาหารทันทีเพื่อให้กรดที่หลั่งออกมาช่วยในการดูดซึมยาครับ อาจต้องพิจารณาว่ากินอาหารมื้อไหนเป็นมื้อหลักควรกินยาหลังอาหารมื้อนั้น ถ้าให้ดีแนะนำให้กินพร้อมน้ำอัดลมครับ(มีการศึกษาว่า Cola beverage เช่น Coke,Pepsi) ช่วยให้ยาดูดซึมได้ดีขึ้นเนื่องจากน้ำอัดลมมีคุณสมบัติเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะได้ครับ อีกอย่างในกรณีที่รักษาไม่หาย อาจเกิดได้จากการกินพร้อมหรือใกล้ยาบางชนิดเช่น ยาลดกรด,ยายับยั้งการหลั่งกรด รักษาโรคกระเพาะอาหาร เป็นต้นครับ เนื่องจากยาเหล่านี้จะลดกรดทำให้ยา Sporal แตกตัวดูดซึมไม่ได้ครับ นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายชนิดที่มีผลเช่นกัน หากมีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกินยาก็จะดีครับเพื่อจะได้ช่วยกันตอบคำถามของคุณได้


ref; ภก.ปริทัศน์ สุขสนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทักทาย แนะนำ ติชม แสดงความคิดเห็น